“ผิวหนังช้ำง่าย” สัญญาณเตือนภัยสุขภาพ ไม่แน่นะ! คุณอาจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบไม่รู้ตัว


ใครมักจะมีปัญหามีรอยฟกช้ำเหมือนมีเลือดออกใต้ผิวหนังค่อนข้างบ่อยบ้างมั๊ยค่ะ? ชนอะไรนิด ชนอะไรหน่อยก็ช้ำแล้ว หรือบางครั้งคุกเข่านานๆก็เกิดเป็นจ้ำเลือดแดงๆม่วงๆใต้ผิวหนังแล้ว การที่เรามีรอยช้ำง่ายขนาดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาสุขภาพหรือไม่ มาฟังคุณหมอตอบคำถามนี้กันได้เลย

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา ได้ให้คำตอบว่า


อาการเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสรุปแล้วสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลักๆ ดังนี้



1. ความผิดปกติของหลอดเลือด
เช่น หลอดเลือดไม่แข็งแรง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุนี้พบค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกกระแทกอย่างแรงแล้วมีเลือดออก

2. ความผิดปกติของเกล็ดเลือด ได้แก่

–  จำนวนเกล็ดเลือดต่ำ  โดยอาการเลือดออกเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำมักจะเป็นจุดเลือดออก

–  มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย (Leukemia) คนที่เป็นอาการนี้มักจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหนื่อยเพลีย มีไข้ มีเลือดออก มีอาการปวดตามข้อ เป็นต้น โดยรอยช้ำที่เป็นจ้ำๆ ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นนั้นเกิดจากการที่เส้นเลือดปริแตกจนมีเลือดออกอยู่ใต้ผิวหนังและไม่ยอมหยุดง่ายๆนั่นเอง

–  ความผิดปกติของการทำงานของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจเกิดจากการกินยาบางตัว เช่น แอสไพริน หรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุที่เรียกว่าAPDE (Acquired platelet dysfunction with eosinophilia) อาการที่ว่านี้พบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยมีอาการเลือดออกใต้ผิวหนังอาจจะเป็นๆหายๆนานถึง 2 ปีแต่ในที่สุดก็หายได้


3. ความผิดปกติด้านการแข็งตัวของเลือด สาเหตุอาจเป็นเพราะความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ในผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลีย ซึ่งจะมีการแข็งตัวของเลือดได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดตามหลังโรคบางโรค เช่น ผลต่อโรคตับวาย โดยลักษณะเลือดออกจากความผิดปกติที่ปัจจัยการแข็งตัวของเลือดจะไม่ใช่เลือดออกที่ผิวหนังตื้นๆ  แต่มักจะมีเลือดออกที่ส่วนผิวหนังลึกๆ และเป็นบริเวณกว้าง

4. เลือดออกเนื่องจากเนื้อเยื่อในชั้นนอกหลอดเลือดอ่อนแอหรือไม่แน่น เช่น
คนแก่ จะมีเลือดออกที่ผิวหนังแล้วเห็นเป็นรอยสีม่วงคล้ำหรือสีน้ำตาลได้ชัดเจน




ดังนั้น การจะรับรู้ได้ว่าแผลช้ำที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุใด คุณจำเป็นต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น

– บริเวณที่ผิวหนังมักเกิดรอยช้ำ

– ลักษณะของรอยช้ำที่เกิดขึ้น

– ระยะเวลาที่เกิดรอยช้ำ

– มีอาการเลือดหยุดยาก อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย หรืออาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่
เป็นต้น



โดยทั่วไปแล้วลองสำรวจดูก่อนว่า คุณพบรอยช้ำตรงบริเวณอื่นที่ไม่ได้ถูกกระแทกด้วยหรือไม่ หากไม่มีเลยและรอยช้ำตรงที่ถูกกระแทกหายหายไปภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ก็ถือว่าปกติ และไม่มีอะไรต้องกังวลใจ แต่หากมีจ้ำเลือดเกิดใหม่อีกโดยไม่มีการกระทบกระแทกควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจจะเกิดจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นทั้ง 4 ข้อก็เป็นได้

ลองสำรวจตัวเองอยู่เสมอ เพราะหากเกิดความผิดปกติใดๆขึ้นมาจะได้รับการรักษาได้ทันเวลา แล้วโรคที่คุณเป็นอยู่ก็จะไม่น่ากลัวอะไร เพราะโรคทุกโรคย่อมรักษาได้ หากตัวและใจคุณพร้อม

..............................................
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก haamor.com และ talkaboutsex.thaihealth.or.th



ติดตามข่าวด่วน เกาะกระแสข่าวดัง บน Facebook คลิกที่นี่!(Like)

Share this :

Previous
Next Post »