ใบย่านาง ตำรับยาแก้ไข้ สมุนไพรอายุวัฒนะ


ภาพจาก: Kapook

ใบย่านาง สมุนไพรโบราณสุดมหัศจรรย์ที่เปี่ยมสรรพคุณทางยา และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เรามาทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดนี้กันเถอะ

ย่านาง เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โบราณในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการนำมาทำอาหารหลากหลายชนิด ซึ่ง หมอเขียว ใจเพชร นักวิชาการสาธารณสุข ครูฝึกแพทย์แผนไทย และนักบำบัดสุขภาพทางเลือก เคยนำมาอธิบายไว้ในหนังสือ "ย่านาง สมุนไพรมหัศจรรย์" เกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณมากมายของย่านาง ซึ่งทางภาคอีสานหมอยาโบราณเรียกย่านางว่า "หมื่นปี บ่ เฒ่า" แปลเป็นภาษากลางว่า "หมื่นปีไม่แก่" และในปัจจุบัน ย่านาง ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก เพื่อรักษาอาการป่วยต่าง ๆ รวมทั้งการปรับสมดุลในร่างกาย เรามาทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันให้มากกว่านี้ดีกว่า รับรองว่าจะต้องทึ่งกับสรรพคุณที่มากมายของย่านางแน่นอนค่ะ



ก่อนที่จะไปดูกันถึงเรื่องสรรพคุณและประโยชน์ เรามาทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้กันก่อนดีกว่าค่ะ

ย่านาง หรือใบย่านาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bamboo grass ทางภาคเหนือเรียกว่า จ้อยนาง ภาคกลางเรียก เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว และภาคใต้จะเรียกว่า ยาดนาง เป็นพืชในตระกูลไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5-10 ซม. กว้าง 2-4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2-5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3-5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ ย่านางเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น สามารถช่วยดับพิษร้อนต่าง ๆ ได้

คุณค่าทางโภชนาการของใบย่านาง

ในใบย่านาง 100 กรัมจะ มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้


  • พลังงาน 95 กิโลแคลอรี่
  • เส้นใย 7.9 กรัม 
  • แคลเซียม 155 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 30625 IU
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 141 มิลลิกรัม
  • โปรตีน 15.5 เปอร์เซนต์
  • ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซนต์
  • โพแทสเซียม 1.29 เปอร์เซนต์
  • แคลเซียม 1.42 เปอร์เซนต์
  • แทนนิน 0.21 เปอร์เซนต์


สรรพคุณทางยาของย่านาง 

ย่านางนั้นมีสรรพคุณทางยาที่ขึ้นชื่อมากมาย ซึ่งสรรพคุณทางยาไม่ได้มีเพียงแค่ในใบย่านางเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนอื่น ๆ ของต้นก็มีประโยชน์มากมายเช่นกัน

ราก 

รากของย่านาง นิยมนำมาใช้เพื่อแก้อาการไข้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด ไข้ฝีดาษ ไข้กาฬ หรือ ไข้ทับระดู และอาการเบื่อเมา นอกจากนี้รากของย่านางยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา 5 ราก หรือแก้วห้าดวง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาสมุนไพร โดยยาดังกล่าวเป็นสามารถรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในขณะเริ่มแรกได้ โดยนำรากแห้งต้มกับน้ำครั้งละ 1 กำมือ แล้วดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง

ใบ

ใบย่านาง คือเป็นส่วนที่มีประโยชน์และถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมากที่สุด เพราะเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น และมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง นอกจากนี้ถูกจัดเอาไว้ในตำราสมุนไพรว่าเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของใบย่านางในการรักษาโรคมีดังนี้

รักษาและป้องกันโรคภัยต่าง ๆ


  • ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ช่วยป้องกันและบำบัดการเกิดโรคหัวใจ
  • ช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้
  • สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง หากดื่มน้ำใบย่านางเป็นประจำ จะทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งจะฝ่อและเล็กลง
  • ช่วยป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้ ไอจาม มีน้ำมูกและเสมหะ
  • ช่วยรักษาอาการร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ
  • ช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวาน โดยไปลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง
  • มีส่วนช่วยช่วยอาการปวดตึง ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดชาบริเวณต่าง ๆ
  • มีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย
  • ช่วยรักษาอาการเกร็ง ชัก หรือเป็นตะคริวบ่อย ๆ
  • ช่วยแก้อาการเจ็บเหมือนมีไฟช็อตหรือมีเข็มแทงหรือมีอาการร้อนเหมือนไฟ
  • ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบอย่างรุนแรงและเรื้อรัง
  • ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ
  • ช่วยรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคริดสีดวงทวาร
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคเกาต์


ระบบทางเดินอาหาร


  • ช่วยรักษาอาการท้องเสีย เพราะช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุได้
  • ช่วยบรรเทาอาการอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลัน
  • ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการแสบท้อง
  • ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ
  • ช่วยลดอาการหดเกร็งตามลำไส้
  • ช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อน


ระบบทางเดินหายใจ


  • ช่วยป้องกันและรักษาโรคหอบหืด
  • ช่วยรักษาอาการของโรคไซนัสอักเสบ


ระบบผิวหนัง


  • ช่วยชะลอและลดการเกิดริ้วรอยก่อนวัย
  • ช่วยป้องกันไม่ให้เส้นเลือดฝอยในร่างกายแตกใต้ผิวหนังได้ง่าย
  • ช่วยรักษาอาการตกกระที่ผิวเป็นจ้ำ ๆ สีน้ำตาลตามร่างกาย
  • ช่วยในการรักษาโรคเริม งูสวัด
  • รักษาสิว ฝ้า ตุ่มคัน ตุ่มใส ผื่นคัน พอกฝีหนอง โดยการน้ำใบย่านางเมื่อนำมาผสมกับดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากจนเหลว แล้วนำมาทา 
  • ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยรักษาอาการผิวหนังมีความผิดปกติคล้ายรอยไหม้
  • ช่วยป้องกันและรักษาอาการส้นเท้าแตก เจ็บส้นเท้า
  • ช่วยรักษาอาการเล็บมือเล็บเท้าผุ โดยรักษาอาการเล็บมือเล็บเท้าขวางสั้น ผุ ฉีกง่าย หรือในเล็บมีสีน้ำตาลดำคล้ำ อาการอักเสบที่โคนเล็บ


ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ


  • ช่วยรักษาโรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในถุงน้ำดี
  • ช่วยรักษาอาการปัสสาวะแสบขัด ออกร้อนในทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยแก้อาการปัสสาวะมีสีเข้ม ปัสสาวะบ่อย หรือมีอาการปัสสาวะออกมาเป็นเลือด
  • ช่วยรักษาอาการมดลูกโต อาการปวดมดลูก ตกเลือดได้
  • ช่วยบำบัดรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
  • ช่วยป้องกันโรคไส้เลื่อน
  • ช่วยรักษาอาการตกขาว


สร้างเสริมและบำรุงสุขภาพ


  • ช่วยลดน้ำหนัก โดยการเผาผลาญไขมันและนำไปใช้เป็นพลังงาน 
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านโรคในร่างกายให้แข็งแรง
  • ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
  • ช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
  • ช่วยในการปรับสมดุลของร่างกาย
  • ช่วยในการบำรุงรักษาตับ และไต
  • ช่วยรักษาและบำบัดอาการอัมพฤกษ์
  • ช่วยแก้อาการอ่อนล้า อ่อนเพลียของร่างกาย
  • ช่วยรักษาอาการเกร็ง ชัก หรือเป็นตะคริวบ่อย ๆ
  • ช่วยแก้อาการเจ็บเหมือนมีไฟช็อตหรือมีเข็มแทงหรือมีอาการร้อนเหมือนไฟ
  • ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียนได้
  • ช่วยแก้อาการง่วงนอนหลังการรับประทานอาหาร
  • ช่วยแก้อาการเลือดกำเดาไหล
  • ช่วยในการบำรุงสายตาและรักษาโรคเกี่ยวกับตา เช่น ตาแดง ตาแห้ง ตามัว แสบตา ปวดตา ตาลาย เป็นต้น
  • ช่วยรักษาอาการปากคอแห้ง ริมฝีปากแตกหรือลอกเป็นขุย
  • ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเสมหะเหนียวข้น ขาวขุ่น มีสีเหลืองหรือเขียว หรืออาการเสมหะพันคอ
  • ช่วยลดอาการนอนกรน
  • ช่วยแก้อาการเจ็บปลายลิ้น
  • ช่วยป้องกันและบำบัดรักษาโรคหัวใจ
  • ช่วยป้องกันและรักษาโรคหอบหืด
  • ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ




เถาของย่านางช่วยลดความร้อนและแก้พิษตานซาง และยังมีข้อมูลทางเภสัชวิทยาระบุอีกว่า สามารถช่วยต้านมาลาเรีย และยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ได้

ประโยชน์ของใบย่านาง

ใบย่านางนั้นมีประโยชน์ในการช่วยชะลอการเกิดผมหงอก ทำให้ผมดำและนุ่มชุ่มชื้น และยังมีการนำมาทำเป็นอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมของหน่อไม้ เพราะน้ำใบย่านางนั้นสามารถช่วยต้านพิษกรดยูริกที่มีในหน่อไม้ได้ แถมยังนิยมนำมาทำอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ แกงอ่อม แกงเห็ด แกงเลียง หรือรับประทานสด ๆ กับน้ำพริกอีกด้วย

ย่านาง ตำรับยาแก้ไข้ สมุนไพรอายุวัฒนะ

วิธีการทำน้ำใบย่านาง

โดยส่วนใหญ่แล้วการนำย่านางมาใช้นั้นมักจะนำมาใช้โดยการคั้นน้ำและเอาไปเป็นส่วนผสมในการทำอาหารนำมาดื่มเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งหมอเขียวก็ได้แนะนำวิธีใช้ใบย่านางเอาไว้ในหนังสือ เรามาดูกันดีกว่าว่า น้ำใบย่านางนั้นมีวิธีการทำอย่างไรบ้าง

วิธีการทำน้ำใบย่านางสูตรหมอเขียว

สูตรนี้ เป็นการใช้ใบย่านางในการเพิ่มคลอโรฟิลล์ คุ้มครองเซลล์ ฟื้นฟูเซลล์ ปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะไม่สมดุลของร่างกาย ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้

ใบย่านาง


  • เด็ก ใช้ใบย่านาง 1-5 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว 200-600 ซีซี
  • ผู้ใหญ่ ที่รูปร่างผอม บางเล็ก ทำงานไม่ทน ใช้ 5-7 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
  • ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานทน ใช้ 7-10 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
  • ผู้ใหญ่ที่รูปร่างสมส่วน ตัวโต ใช้ 10-20 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว


วิธีทำ

1. ใช้ใบย่านางสด มาล้างทำความสะอาดโขลกให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ หรือขยี้ใบย่านางกับน้ำหรือปั่นในเครื่องปั่น (แต่การปั่นในเครื่องปั่นไฟฟ้า จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง เนื่องจากความร้อนจะไปทำลายความเย็นของย่านาง)

2. กรองน้ำใบย่านางที่ได้ผ่านกระชอนเอาแต่น้ำ

3. ดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว วันละ 2-3 เวลา ก่อนอาหาร หรือตอนท้องว่างหรือผสมเจือจางดื่มแทนน้ำ เพราะถ้าเกิน 4 ชม. มักจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่เหมาะที่จะดื่ม แต่ถ้าแช่ในตู้เย็น ควรใช้ภายใน 3-7 วันโดยให้สังเกตุที่กลิ่นเปรี้ยวเป็นหลัก

หมายเหตุ

ถ้าจะให้ได้รสชาติ คั้นกับใบเตย จะหอมอร่อยมาก หรือจะใส่กับน้ำมะพร้าวก็จะหอมชื่นใจมากขึ้น ( แต่ถ้าใส่น้ำมะพร้าวจะเสียเร็วนะ) ผักฤทธิ์เย็น นำมาคั้นร่วมกับย่านางก็ได้  เช่น  ผักบุ้ง ตำลึง ใบบัวบก ใบเตย

วิธีการทำน้ำใบย่านางสูตรทั่วไป

ส่วนผสม


  • ใช้ใบย่านาง 30-50 ใบ 
  • น้ำดื่ม 4.5 ลิตร 
  • ใบเตย 10 ใบ


วิธีการทำ

1. ตัดหรือฉีกใบย่านางและใบเตยให้เล็กลง แล้วนำไปโขลกให้ละเอียด หรือขยี้ หรือนำไปปั่น

2. กรองด้วยผ้าขาวบาง หรือตะแกรงตาถี่เอาแต่น้ำสีเขียว แล้วนำไปดื่มแทนน้ำได้ทั้งวัน ที่เหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็นไว้ดื่มได้ 4 - 5 วัน ถ้ารสชาติเริ่มเปรี้ยวควรทิ้งทันที

วิธีการทำน้ำใบย่างนางสูตรที่ 2

ส่วนผสม


  • ใบย่านาง 5-20 ใบ
  • ใบเตย 1-3 ใบ
  • บัวบก ครึ่ง-1 กำมือ
  • หญ้าปักกิ่ง 3-5 ต้น
  • ใบอ่อมแซบ (เบญจรงค์) ครึ่ง-1 กำมือ
  • ใบเสลดพังพอน ครึ่ง–1 กำมือ
  • ว่านกาบหอย 3-5 ใบ


วิธีการทำ

1. ตัดหรือฉีกใบย่านาง ใบเตย ใบบัวบก หญ้าปักกิ่ง ใบเบญจรงค์ และใบเสลดพังพอนให้เล็กลง แล้วนำไปโขลกให้ละเอียด หรือขยี้ หรือนำไปปั่น

2. กรองด้วยผ้าขาวบาง หรือตะแกรงตาถี่เอาแต่น้ำสีเขียว แล้วนำไปดื่มแทนน้ำได้ทั้งวัน ที่เหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็นไว้ดื่มได้ 4 - 5 วัน ถ้ารสชาติเริ่มเปรี้ยวควรทิ้งทันที

ย่านาง ตำรับยาแก้ไข้ สมุนไพรอายุวัฒนะ

นอกจากนี้ยังมี วิธีทำน้ำใบย่านางอีกสารพัดสูตรตามเข้าไปดูเลยค่ะ "สูตรน้ำใบย่านาง"

เทคนิควิธีการปั่นใบย่านาง

การทำน้ำใบย่านาง โดยใช้เครื่องปั่นให้คงคุณค่าสารอาหาร เทคนิคอยู่ที่วิธีการปั่นคือ ไม่ควรกดปั่นครั้งเดียวจนใบย่านางละเอียด ควรใช้วิธีกดปั่น แล้วนับ 1-2-3-4-5 อย่างเร็ว แล้วรีบกดปิด รอให้น้ำใบย่านางหยุดหมุน แล้วกดปั่นอีกครั้งนับ 1-2-3-4-5 อย่างเร็วแล้วรีบกดปิด รอให้น้ำใบย่านางหยุดหมุนทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนใบย่านางละเอียด วิธีนี้ทำให้โมเลกุลของสารอาหารไม่เปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม เสร็จแล้วจึงนำมากรองเอาแต่น้ำค่ะ

แกงหน่อไม้ใบย่านาง 

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้มหน่อไม้ต้องใส่ใบย่านาง ? ก็เพราะมีความเชื่อกันมาว่า หน่อไม้มีฤทธิ์ร้อน กินมาก ๆ จะทำให้ท้องอืด จึงต้องแก้ด้วยน้ำใบย่านางซึ่งมีฤทธิ์เย็น นี่เองที่ทำให้หน่อไม้กับใบย่านางกลายเป็นของคู่กันไปซะแล้ว

ถ้ารู้แล้วว่า หน่อไม้กับใบย่านางเป็นของคู่กัน แบบนี้ก็ต้องลองมาทำเมนูที่มีทั้งหน่อไม้และใบย่านางกันดูสักหน่อย กับเมนูที่มีชื่อว่า แกงหน่อไม้ใบย่านาง เมนูโปรดของคออาหารอีสานรสแซ่บ ที่จะพาทุกคนไปอร่อยไปกับหน่อไม้กรอบ ๆ เข้ากันดีกับน้ำใบย่านาง แถมยังมีผัก และเห็ดนานาชนิดเต็มถ้วยไปหมด กลิ่นหอมฟุ้งเลยทีเดียว ยิ่งถ้าใครชอบกินปลาร้าด้วยแล้ว รับรองเลยว่าเด็ดโดนใจ แถมในน้ำใบย่านางยังมีประโยชน์ต่อร่างกายเราอีกด้วย

เอาล่ะ ถ้าใครสนใจจะเข้าครัวไปทำ แกงหน่อไม้ใบย่านางกันแล้ว ก็ตามมาดูวิธีทำแกงหน่อไม้ใบย่านางด้านล่างนี้กันได้ที่นี่เลยค่ะ "วิธีทำแกงหน่อไม้ใบย่านาง"




โทษของใบย่านาง

ในปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยใดพิสูจน์ได้ว่าใบย่านางนั้นมีโทษต่อร่างกายอย่างไร แต่ก็มีคำเตือนว่าผู้ที่ป่วยในโรคไตระยะสุดท้ายไม่ควรดื่มน้ำใบย่านาง เพราะสารอาหารอย่างวิตามินเอ ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่อยู่ในใบย่านางนั้นจะทำให้เกิดการคั่งได้หากการทำงานของไตลดลง

นอกจากนี้ใบย่านางถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ เช่น ใบย่านางแคปซูล สบู่ใบย่านาง แชมพูใบย่านาง เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งทำให้สามารถนำไปใช้ได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อนนำมาใช้ เพราะบางทีอาจจะมีส่วนผสมบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพื่อความปลอดภัย ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้จะดีที่สุดนะคะ

เป็นอย่างไรกันบ้างได้ทราบสรรพคุณที่มากมายจนน่ามหัศจรรย์ของสมุนไพรย่านางกันไปแล้ว คงจะเริ่มสนใจนำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้กันแล้วใช่ไหมล่ะ แต่ก็ควรใช้ให้ถูกวิธีและเหมาะสมนะ เพราะสมุนไพรชนิดนี้ถึงมีแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ถ้าหากเราใช้มากเกินไปและไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาได้นะจ้ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย 
- สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
- morkeaw.net 
- frynn.com 
- kapook.com

ติดตามข่าวด่วน เกาะกระแสข่าวดัง บน Facebook คลิกที่นี่!(Like)
ชื่นชอบข่าวนี้ อยากแชร์ต่อให้เพื่อนๆ


Share this :

Previous
Next Post »